ความรู้ในเรื่องของการเงินการลงทุนนั้น เป็นความรู้ที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะใคร ๆ ต่างก็อยากที่จะมีเงินเยอะ ๆ ร่ำรวยด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นการใส่ใจหาความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถต่อยอดความมั่งคั่งให้กับตนเองและครอบครัวได้ โดยธนาคารนั้นมีผลิตภัณฑ์การเงินมากมายหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกใช้บริการ ซึ่งบริการพื้นฐานของธนาคารก็คือการรับฝากเงิน โดยประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินจะได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารก็คือ ดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ทราบหรือไม่ว่า กฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีสำหรับรายรับที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากเอาไว้ด้วย โดยเราไปดูกันดีกว่าว่ามีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษี

คุณรู้จักดอกเบี้ยเงินฝากดีแค่ไหน

ก่อนที่เราจะไปทราบข้อมูลว่ามีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษี อันดับแรกคุณรู้จักดอกเบี้ยเงินฝากดีแค่ไหน รู้หรือไม่ว่าดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร และสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท มีอะไรบ้าง ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากก็คือ เงินที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินจ่ายให้แก่ผู้ฝากเงิน เพื่อเป็นผลตอบแทนของการนำเงินมาฝาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ และดอกเบี้ยเงินฝากมีหลายประเภท เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก เป็นต้น โดยทั่วไปนั้นดอกเบี้ยเงินฝากจะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนเงินต้นที่นำมาฝาก อัตราดอกเบี้ยต่อปี จำนวนระยะเวลาของการฝากเงิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบัญชีเงินฝากแบบประจำ 3 เดือน หรือ 6 เดือนขึ้นไป มักจะได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ยิ่งการฝากประจำเป็นระยะเวลานานมาก ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามไปด้วย

มีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษี

การที่เราควรใส่ใจเลือกฝากเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้ผลประโยชน์ในด้านดอกเบี้ยกับเรามากที่สุดเพราะว่า การคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น (Compound Interest Rate) โดยดอกเบี้ยที่เราได้รับมาในงวดก่อน ๆ นั้นจะถูกนำมาคิดทบเป็นเงินต้น เพื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยในงวดต่อ ๆ ไป นั่นทำให้ยิ่งเราออมด้วยเงินต้นจำนวนมาก บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง และระยะเวลาที่นาน โอกาสที่เงินของเราจะงอกเงยก็มีสูงมากเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ถูกนับเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทที่ 4 ซึ่งจะต้องมีการเสียภาษีให้กับรายได้ประเภทนี้ด้วย ซึ่งไปเช็กกันเลยดีกว่าว่า เราต้องมีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษีให้กับรัฐ

 “มีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษี” คำถามที่หลายคนอาจสงสัย

คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับภาษีดอกเบี้ยเงินฝากก็คงจะหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า มีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษี ซึ่งคำตอบของคำถามนี้อาจจะไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินออมทั้งหมดที่เรามี แต่อยู่ที่ว่าเราบริหารจัดการเงินออมนั้นอย่างไรต่างหาก เพราะตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดอกเบี้ยเงินฝากที่บุคคลธรรมดาได้รับจากการฝากเงินในธนาคาร ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ที่ต้องเสียภาษี โดยอัตราการเสียภาษีอยู่ที่ 15% โดยหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งภาษีประเภทนี้จะถูกคิดก็ต่อเมื่อผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทขึ้นไป แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการ ดังนี้

1. ผู้ที่ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีภาษี ไม่ต้องเสียภาษี
2. ผู้ฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีครบตามเงื่อนไขทุกข้อที่ทางธนาคารกำหนดไว้ ไม่ต้องเสียภาษี
3. ผู้ฝากเงินในรูปแบบสลากออมทรัพย์กับธนาคารของรัฐบาล ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

4. สมาชิกสหกรณ์ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผลที่ได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 

5. ผู้ที่ฝากเงินออมทรัพย์กับธนาคารของภาครัฐ จะมีสิทธิพิเศษได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม หากจะให้คำนวณเป็นตัวเงินที่ฝากอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป เพื่อหาว่ามีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษีก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ด้วยการนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารออมทรัพย์กำหนดให้สำหรับเงินฝาก ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่อปี 2% มาคิดย้อนกลับให้ได้จำนวนดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท โดยสามารถคำนวณได้ว่า (20,000 x 100)/2 เท่ากับ 1,000,000 บาท ดังนั้นหากผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์มีค่า 2% ผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐจะต้องมีเงินฝากตั้งแต่ 1,000,001 บาทขึ้นไป

จากวิธีการคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่า เราจะเช็กว่ามีเงินฝากเท่าไรถึงเสียภาษีได้ก็ต่อเมื่อทราบอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะให้ผลตอบแทนต่อผู้ที่ฝากเงิน แล้วนำมาคิดให้ได้ยอดดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท ก็จะทำให้ทราบยอดเงินฝากที่จะทำให้ผู้ฝากเงินต้องเสียภาษีให้รัฐตามที่กำหนด ซึ่งหากใครต้องการควบคุมหรือลดการเสียภาษีในส่วนนี้ลง สิ่งที่ควรทำคือตรวจสอบยอดดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ในแต่ละปี หากคาดว่าจะได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็สามารถที่จะนำเงินต้นส่วนเกินนั้นไปเก็บออมในบัญชีเงินฝากรูปแบบอื่นที่ได้รับการยกเว้นภาษี หรือนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้การบริหารภาษีในแต่ละปีภาษีได้ประโยชน์อย่างสูงสุด